ตอนที่เป็นพนักงานของบริษัทแห่งหนึ่ง ที่ต้องการทำโรงงานในประเทศไทย ตอนนั้นผมใช้เวลาในการหาที่ดินทั้งในนิคมอุตฯ และนอกนิคมอุตฯ ในภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) เพื่อก่อสร้างโรงงาน ได้เดินทางดูทั้งที่ดินเปล่าและที่ดินพร้อมโรงงานทั้ง 3 จังหวัดมากว่า 80 แปลง สุดท้ายด้วยเวลาที่เร่งด่วนผู้บริหารเลยเลือกที่จะซื้อต่อโรงงานเก่าแห่งหนึ่งจากบริษัทญี่ปุ่นในนิคมอุตสาหกรรม
โรงงานที่ซื้อมานั้นจริงๆ แล้วเป็นโกดังเก็บสินค้า (ซื้อที่ดินและอาคารบางส่วนของโรงงาน) ดังนั้นจึงมีขั้นตอนมากมายกว่าที่จะเปิดดำเนินการได้ (ได้ใบอนุญาตโรงงาน กนอ.03/2)
ผังตามรูปแสดงขั้นตอนการทำงานซึ่งผมแบ่งออกเป็นคร่าวๆ 10 ขั้นตอน ดังนี้
Step 1 : การทำสัญญาซื้อ/ขาย ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
Step 2 : ผู้ขายยื่นคำร้องกับการนิคมฯ (กนอ.01/3) เพื่อขออนุญาตโอนที่ดินและอาคารให้ผู้จะซื้อ และฝ่ายผู้จะซื้อก็ต้องยื่นคำร้อง (กนอ.01/1) เพื่อประสงค์จะรับโอนที่ดินและอาคารจากผู้ขาย และเมื่อผ่านการพิจารณาอนุมัติจาก กนอ. แล้วทางผู้จะซื้อจะได้รับเอกสาร (กนอ.01/2)
Step 3 : ขั้นตอนการยื่นคำร้องกับการนิคมฯ เพื่อขอให้ออกหนังสือ (กนอ.15ส) สำหรับใช้ยื่นเป็นเอกสารประกอบ ณ กรมที่ดินเพื่อการโอนที่ดินและอาคาร
Step 4 : ขั้นตอนการไปกรมที่ดินเพื่อทำการโอนที่ดินและอาคารระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ
Step 5 : ขั้นตอนการขอเปลี่ยนชื่อผู้เป็นเจ้าบ้านที่ อบต. (เปลี่ยนชื่อเจ้าของในเล่มทะเบียนบ้าน)
Step 6 : ขั้นตอนการยื่นเอกสาร (กนอ.02/1) เพื่อขอเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์อาคารจากโกดังเป็นโรงงาน และได้ใบอนุญาต (กนอ.02/2)
Step 7 : ขั้นตอนการยื่นเอกสาร (กนอ. 02/5) เพื่อขอตรวจสอบการใช้อาคารโรงงาน และได้ใบอนุญาต (กนอ.02/6)
Step 8 : ขั้นตอนการยื่นเอกสาร (กนอ.03/1) เพื่อขอตรวจสอบการจัดผังโรงงาน และได้ใบอนุญาตให้ดำเนินการผลิต (กนอ.03/2)
Step 9 : ขั้นตอนการขอใช้ไฟฟ้า เช่นการติดมิเตอร์ไฟ การเปลี่ยนขนาดหม้อแปลง หรือการปักเสาเพิ่มเพื่อเดินเคเบิ้ลไฟ 3 เฟส
Step 10 : ขั้นตอนการขอติดตั้งมิเตอร์น้ำ และเรื่องการจัดเก็บขยะกับสำนักงานการนิคมฯ
(หมายเหตุ: ขั้นตอน ณ ปัจจุบันอาจมีความแตกต่าง กรุษาศึกษาจากเวปไซต์ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง)