ปี 2528 ผมเรียนอยู่ ปวช.ปี2 ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ที่วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี ขอบๆ กรุงเทพ ผมมีเพื่อนสนิทคนนึงเขาเอาบัตร ATM ของธนาคารไทยพาณิชย์ มาอวดให้เพื่อนในห้องเรียนดูกัน มันเป็นอะไรที่โคตรเท่ห์เลย เพราะสมัยนั้นธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธนาคารแห่งแรกที่นำตู้เอทีเอ็มมาติดตั้งที่ศูนย์การค้าสยาม (น่าจะปี 2526) มันเป็นเรื่องไกลตัวที่คนธรรมดาๆ จะมีบัตรเอทีเอ็มใช้งาน (จะเปิดบัญชีธนาคารยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัวเลย ยิ่งไม่ได้เป็นคนทำงานมีเงินเดือนยิ่งแล้ว ไม่รู้ว่าจะมีบัญชีธนาคารไปทำไม) ได้เห็นเพื่อนมีผมก็อยากมีบ้าง ณ.ตอนนั้นธนาคารกสิกรกับธนาคารกรุงเทพเริ่มเอาเครื่องมาติดตั้งตามสาขาใหญ่ๆ กันบ้างแล้ว แต่ไม่ใช่จะไปขอสมัครทำบัตรกันง่ายๆ นะครับ ผมไปสมัครขอทำบัตร ATM กับธนาคารกรุงเทพ เจ้าหน้าที่เขาถามผมว่าจะทำบัตร ATM เพื่อเอาไปทำไม? ผมตอบคำถามเขาไม่ถูกเลยว่าจะมีบัตรเพื่อไปทำอะไร และก็เลยสรุปว่าไม่ได้ทำ จนวันหลังต่อมาได้ไปสมัครของธนาคารกสิกร และก็สมัครผ่านมีบัตรมาอวดเพื่อนๆ เป็นรายที่สองในห้องเรียน55+ (มีแต่บัตร แต่น่าจะมีเงินในบัญชีไม่เกิน 500 บาท)
นั้นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมสนใจอยากเรียนรู้ทางด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ อยากรู้ว่ามันทำงานอย่างไร กอรปกับผมได้เรียนสาขาอิเล็กทรอนิกส์ด้วย ผมจึงวางแผนไว้ว่าผมอยากทำโครงงานเครื่องอ่านเขียนข้อมูลลงบัตรแถบแม่เหล็กไว้ส่งอาจารย์สำหรับโปรเจ็คเมื่อตอนเรียน ปวส.
ความรู้สมัยนั้นหาได้ยากเหลือเกิน แหล่งเดียวที่อาจจะมีความรู้เรื่องเหล่านี้มาให้อ่านได้บ้างก็จากหนังสือวารสารอิเล็กทรอนิคส์เซมิคอนดัคเตอร์ ซึ่งแทบจะไม่เคยนำข้อมูลความรู็เรื่องเหล่านี้มาลงเป็นบทความให้ศึกษา
จนผมเรียนจบ โครงงานส่งอาจารย์ที่ผมอยากจะทำไม่สำเร็จตามเป้าหมาย แต่ก็สำเร็จได้สัก 40~50% ของที่คาดหวังได้ แต่ก็ได้เกรด 4 มาชมเชย
จนผมได้มาทำงานโรงงาน LG ซึ่งผลิตเครื่องตอบรับโทรศัพท์ และในการทำงานของเครื่องตอบรับโทรศัพท์นั้นมันต้องมีการบันทึกสัญญาณทั้ง Analog และ Digital ลงไปบนเส้นเทปแม่เหล็ก ซึ่งมันเป็นความรู้ตรงกับสิ่งที่ผมต้องการเมื่อตอนที่ผมทำโครงงาน แต่ผมหาความรู้เหล่านี้ไม่ได้เลย ณ.ตอนนั้น
และถึงแม้ผมจะมาทำงานโรงงานแต่ความรู้เหล่านี้มันเป็นเรื่องลึกๆ ของผู้วิจัยพัฒนาซึ่งเขาก็ไม่ได้เอาหรือมีความจำเป็นต้องมาสอนให้เรามีความเข้าใจ แต่ด้วยผมเป็น Technician ที่ต้องเข้าใจการทำงานของผลิตภัณฑ์ทุกอย่างที่โรงงานผลิต ผมจึงมักมีเวลาศึกษาและทำความเข้าใจหลักการของมันด้วยตัวเองเวลาว่าง ไม่ว่าจะด้วยการอ่านวงจร หรือการใช้เครื่องมือวัดต่างๆ (Oscilloscope) ทำการวัดสัญญาณและทำความเข้าใจกับมันและจดบันทึกไว้
จากรูปที่แสดงด้านบนนั้น เป็นหลักการทำงานของการบันทึกสัญญาน Digital ลงบนเส้นเทปแม่เหล็ก ด้วยการเปลี่ยนสัญญาน Logic 0 และ 1 เป็นความถี่เสียง โดยให้คาบเวลาของ Logic 1 มีความยาวเป็น 2 เท่าของ Logic 0 แล้วอัดลงบนเส้นเทป หลักการแค่นี้เองที่เป็นเสมือนกุญแจที่ไขความรู้ให้กับผม แต่ผมไม่สามารถหาความรู้เหล่านี้จากไหนได้มาก่อน (เมื่อสมัยนั้น) หากผมเข้าใจหลักการนี้สักหน่อยผมอาจจะทำโครงงานสมัยเรียนส่งอาจารย์ได้อย่างสมบูรณ์กว่าที่ผ่านมา