"Skills, Knowledge, Abilities, and Experiences

are only useful....

If you are at the right place "

นาๆ (ไร้) สาระ

ประกวดวงโยธวาทิตจากอดีตถึงปัจจุบัน

Marching Band

การประกวดวงโยธวาทิตจากอดีตถึงปัจจุบันจากมุมมองของคนวงนอก

ไม่รู้ว่าในที่นี้มีใครรู้จัก เคยดูหรือมีส่วนร่วมกับกิจกรรมวงโยธวาทิตกันบ้างหรือไม่?

ภาพการประกวดวงโยธวาทิต สนามศุภชลาศัย

ผมเป็นคนนึงที่ชอบดูประกวดวงโยธวาทิตเป็นชีวิตจิตใจ เรียกว่าได้ว่า วงโยธวาทิต มันฝังอยู่ในปฎิทินสมองของผมไปแล้ว

หากจำไม่ผิดการประกวดวงโยธวาทิตเริ่มมีมาครั้งแรกน่าจะ พ.ศ. 2524 ซึ่งตอนนั้นผมน่าจะกำลังเรียนอยู่ ม.1 รร. แถวๆบางกะปิ ซึ่งก็ถือว่าค่อนข้างเป็นบ้านนอกของ กทม.ในสมัยนั้น (วัดจากที่ยังนั่งรถเมล์ไปไหนมาไหนในเมืองไม่เป็น นั่งรถเมล์จากบ้านแถวสวนสยามไปกลับโรงเรียนเป็นแค่นั้น) ไม่เคยมีส่วนร่วมในกิจกรรมวงโยธวาทิตของโรงเรียน เพราะเป็นเด็กกลุ่มโหล่ๆ ที่ถูกจัดให้เรียนทางด้านสายอุตสาหกรรม แต่ก็เคยมีแอบเดินๆ ไปดูเด็กที่เขาเรียนกลุ่มสายไหนไม่รู้เหมือนกัน ที่เขาจะได้เรียนเล่นเครื่องดนตรี เวลาเขามีการซ้อมเครื่องดนตรีของวงโยธวาทิต ก็จะไปยืนๆ ข้างๆ ห้องซ้อม มองดูเขาเล่นกัน (แอบคิดในใจแบบเด็กๆ ว่าทำไมตรูไม่ได้เรียนอย่างเขาบ้างวะ5+) และจะเห็นเด็กนักเรียนกลุ่มนี้เล่นวงโยออกงานก็เฉพาะเวลามีงานกีฬาสีของโรงเรียน (วงเล็กๆ ไม่ได้ใหญ่โตอะไร) อ่อ ลืมบอกไปโรงเรียนมัธยมที่ผมเรียนเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงพอสมควรในยุคนั้น แต่ไม่ใช่ด้านวิชาการเป็นหลักอย่างเดียวเขาเด่นดังทางด้านเรื่องกีฬาเป็นพิเศษ ประการต่อมาคือ ถึงแม้ว่าผมจะเรียนจบมาจนได้มาทำงานแล้วก็ตาม ผมก็ไม่ได้มีลูกหลาน, ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนฝูงที่ทำให้ต้องไปมีกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเล่นวงโยธวาทิตเลย ดังนั้นสิ่งที่ผมจะเขียนต่อๆ ไป เป็นความคิดในฐานะของคนวงนอก หรือคนนอกวงการที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ แต่เป็นความคิดเห็นต่อวงการที่ได้ติดตามมากว่า 30 ปีมากกว่า

ภาพการประกวดวงโยธวาทิต สนามศุภชลาศัย

จุดที่ทำให้ผมสนใจวงโยคือ ช่วงตอนยังเรียนมัธยมต้นผมได้มีโอกาสดูการถ่ายทอดสดการเล่นวงโยธวาทิตออกอากาศทางทีวีช่อง 5 สมัยนั้นจำได้ว่าคนที่เป็นพิธีกรชื่อคุณ ประพัทธ์ สรลัม (หากสะกดผิดขออภัย) ซึ่งเป็นพิธีกรประจำของช่อง 5 ประมาณว่าเหมือนเวลาเรานึกถึงช่อง 7 ก็ต้องนึกถึงคุณ ศันสนีย์ นาคพงษ์ ประมาณนั้น

การประกวดที่ออกอากาศเป็นการถ่ายทอดงานวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งจัดที่สนามศุภชลาศัย ซึ่งผมก็ไม่รู้จักหรอกว่ามันอยู่ตรงส่วนไหนของประเทศไทย ถึงจะรู้จักก็คงไม่มีปัญญาไปเที่ยวเพราะยังขึ้นรถเมล์ไปไหนไม่เป็น ในการถ่ายทอดจะเป็นกิจกรรมต่างๆ ของงานวันเด็ก การแสดงแปรอักษรของนักเรียนบนอัฒจรรย์ และการแสดงโชว์จากหน่วยงานราชการต่างๆ (น่าจะทหารด้วยมั๊ง) แต่สิ่งที่เรียกความสนใจของผมมากที่สุดคือการแปรอักษรและการแสดงของวงโยธวาทิต (นั่นอาจจะเป็นครั้งแรกที่ได้รู้จักคำว่าโรงเรียนสวนกุหลาบ หรือโรงเรียนวัดสุทธิฯ  เรียกว่านั่งจดจ่ออยู่หน้าจอทีวีไม่ไปไหนเลย (ตอนนั้นทีวีที่บ้านยังเป็นขาวดำอยู่เลย5+) ความตื่นเต้นของการเป็นคนดูตอนนั้นคือพวกเขาเก่งจังทำได้ยังไง ช่างมีความพร้อมเพรียงและสวยงาม (ถึงแม้ว่าการแปรขบวนสมัยนั้นยังเป็นรูปแบบเรขาคณิตง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และเครื่องดนตีก็ไม่ได้อลังการจัดเต็มดังที่เห็นปัจจุบันนี้) อีกทั้งเครื่องแต่งกายของนักแสดงก็ดูเท่ห์สวยงาม

ภาพการประกวดวงโยธวาทิต สนามศุภชลาศัย

อยู่มาวันหนึ่งเมื่อผมได้เข้าเรียนต่อ ปวช. จำได้ว่าตอนนั้นน่าจะปี 2528 กำลังเรียนอยู่ชั้นปี 2 แล้วทางโรงเรียนมีกิจกรรมอย่างหนึ่งคือการไปออกบูธโชว์ในงานวันเด็กที่สนามศุภฯ แล้วผมโดนเกณฑ์ให้ไปช่วยงานและนอนเฝ้าเต๊นท์ของทางวิทยาลัยด้วย สมัยนั้นจะมีการกางเต้นท์รอบๆ สนามศุภฯ โดยรอบเต็มไปหมดและมีโรงเรียนหรือหน่วยงานต่างๆ มาออกบูธจัดกิจกรรมและนำผลงานของโรงเรียนมาโชว์และแจกขนมหรืออุปกรณ์การเรียนให้เด็กๆ เต็มไปหมด ในการจัดกิจกรรมวันเด็กนี้ บางวิทยาลัยก็มีหน้าที่ติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างโดยรอบ ส่วนวิทยาลัยที่ผมเรียนจะรับผิดชอบในเรื่องของการติดตั้งระบบกระจายเสียงในงาน

การจัดงานสมัยนั้นผมไม่แน่ใจว่าจัดกันกี่วันแต่ที่แน่ๆ ไฮไลท์ของวันที่มีเด็กมาเยอะมากๆ คือวันเสาร์ และมีควันหลงไปจนถึงวันอาทิตย์เพราะยังมีกิจกรรมต่อเนื่องของการประกวดวงโยธวาทิตซึ่งจะชิงชนะเลิศกันในวันนั้น

ผมได้มาอยู่เวรและนอนเฝ้าเต้นท์ของวิทยาลัย และวันเสาร์ก็ทำตัวเป็นเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือแจกของหรืออำนวยความสะดวกให้กับเด็กๆ ที่มาชมเต๊นท์ผลงานของโรงเรียน

ตอนนั้นผมไม่รู้อะไรเลยว่าในสนามกีฬาเขามีกิจกรรมการแสดงอะไรกัน มีช่วงหนึ่งที่ได้ผลัดเวรกับเพื่อนแล้วลองได้เดินเบียดเสียดเข้าประตูขึ้นไปบนอัฒจรรณ์ สิ่งที่เห็นทำให้ผมตะลึงมากว่าเฮ้ย มันคือที่นี่เองหรือที่เขามาแสดงและประกวดวงโยธวาทิตกัน ผู้คนมากมายที่มานั่งดูกันเต็มอัฒจรรย์ (ล้นไปถึงฝั่งที่อยู่ตรงข้ามประธาน แต่ไม่ถึงกับหนาแน่น) เพื่อนผมไม่ได้สนใจอะไรก็งั้นๆ และชวนเดินลงเพื่อไปดูสิ่งอื่นๆ แต่ผมไม่ลงผมยืนดูอยู่ตรงนั้นโดยไม่ลงมาอีกเลยจนกว่าจะมีการพักเบรคของการแสดง และกลับขึ้นไปอีก และเมื่อการแข่งขันในวันนั้นจบลง ผมก็ตั้งใจไว้เลยว่าปีต่อไปผมจะไปดูอีกให้ได้

จากนั้นต่อมาตั้งแต่ปี 2529-2532 ที่ผมยังเรียน ปวช.และ ปวส.อยู่ ผมได้ไปดูการแข่งขันโดยตลอด จนผมเริ่มทำงานเมื่อเรียนจบตั้งแต่ปี 2532 จนปัจจุบันผมได้เดินทางไปดูการประกวดวงโยธวาทิตอย่างต่อเนื่องแบบแทบจะไม่มีขาดเลย หากจะเรียกว่ามีบ้างบางปีที่ไม่ได้ไปก็ไม่น่าเกิน 5 ปีในจำนวนกว่า 30 ปีที่ได้ไปมา และสาเหตุที่บางปีไม่ได้ไปก็เนื่องจากเช่น ติดสอบจากการเรียนต่อภาคสมทบของวันเสาร์หรืออาทิตย์ และอีกสาเหตุคือไปแต่ไม่ได้ดูเนื่องจากเขามีการเลื่อนวัน หรือเปลี่ยนสถานที่จัดงาน หรือปีนั้นเว้นการจัดงานเนื่องจากปัญหาทางการเมือง หรือเหตุผลอื่นๆ จำได้ว่าเคยไปเก้ออยู่สองหรือสามครั้งได้ ที่ไปเก้อเพราะไม่ได้สนใจจะตรวจสอบข้อมูล เพราะปฏิทินในสมองมันสั่งการของมันเองว่าทุกๆ วันเสาร์ที่สองของเดือน ม.ค. มันคือวันที่ผมต้องไป

ภาพการบรรเลงสนามในสนามศุภชลาศัย

ยังไม่แค่นั้นนะครับ อย่าเพิ่งเข้าใจว่าผมไปดูการประกวดแค่เฉพาะวันเด็กวันเดียว ช่วงที่ผมพีคมากๆ ผมจะไปดูตั้งแต่วันแรกๆ ของการแข่งขันเพื่อคัดเลือกซึ่งปกติเขาจะจัดงานกันน่าจะ 5-6 วันตามจำนวนมากน้อยของวงที่เข้าแข่งขันในแต่ละปี (หากจำไม่ผิดสมัยก่อนเขาน่าจะมาแข่งคัดเลือกกันใน กทม.ทังหมด แต่ยุคหลังๆ มานี้เขาจะมีการแข่งระดับภาคตามต่างจังหวัดแล้วค่อยเข้ามาชิงกันใน กทม.อีกที (ไม่แน่ใจข้อมูลถูกต้องหรือไม่ อย่างที่บอกแต่ต้นว่าไม่ใช่คนวงในครับ)

ภาพการประกวดนั่งบรรเลง

คุณรู้มั๊ยว่าสมัยทำงานผมลำบากแค่ไหน ผมทำงานอยู่บางปะกง ฉะเชิงเทรา เช่าบ้านพักอยู่บางแสน ด้วยความที่อยากเข้ามาดูการประกวดให้ได้ทุกๆ วัน ผมต้องลางานครึ่งวันทุกวันแล้วออกมายืนรอรถ บขส. หน้าโรงไฟฟ้าบางปะกง เพื่อมาลงที่ขนส่งเอกมัย แล้วก็นั่งรถเมล์ต่อไปยังสนามศุภฯ ให้ทันการแข่งขันที่มักจะเริ่มช่วงบ่ายสาม (บางทีก็เรียกแท๊กซี่ หากกลัวว่าจะไม่ทันการแสดง แล้วก็อีกอย่างคือรถไฟฟ้าก็ยังไม่มีนะครับสมัยนั้น5+)  แล้วแต่ละวันที่ดูการแสดงประกวดจบก็สักประมาณทุ่มนึงได้ ผมต้องรีบนั่งแท๊กซี่กลับมาที่ขนส่งเอกมัยเพื่อขึ้นรถทัวร์เที่ยวสุดท้ายกลับไปชลบุรี หากวันไหนตกรถทัวร์เที่ยวสุดท้ายก็ต้องรีบเรียกรถแท๊กซี่มาลงที่แยกบางนาเพื่อให้ทันกับรถตู้ ที่มีเที่ยวท้ายๆ ประมาณสามหรือสี่ทุ่มได้ กว่าจะกลับถึงห้องเช่าที่บางแสนก็เกือบเที่ยงคืนได้

วนเวียนกับวิธีการเดินทางแบบนี้เกือบสิบปี จนหลังปี 2540 ที่เริ่มมีรถยนต์เป็นของตนเองและก็ขับเข้ามาจอดในเมือง แรกๆ ก็จอดไว้ที่โลตัสอ่อนนุช แล้วต่อรถไฟฟ้ามา แต่วันไหนหากเข้ามาได้เร็วก็ขับมาจอดที่มาบุณครองบ้าง หรือมาจอดในสนามศุภฯ เลยบ้าง (แต่ก็เสี่ยงที่จะหาที่จอดรถไม่ได้)

พอจะทำให้เชื่อได้หรือยังว่าผมเป็นแฟนพันธ์แท้ตัวจริง 55+

เคยมีอยู่ปีหนึ่งเขามีการประกาศแจกรางวัลให้กับผู้ที่เป็นแฟนพันธ์แท้ ที่มาชมงานประกวดแบบยาวนานที่สุด โดยเขาวัดจากผู้มาชมการประกวดที่เก็บหนังสือสูจิบัตรของแต่ละปีที่เขาทำแจกไว้ได้มากปีที่สุด ผมไม่ได้รู้ข่าวหรือสนใจอยากได้รางวัลกับเขาหรอก แต่ตอนผมฟังพิธีกรประกาศชื่อให้คนออกไปรับรางวัล เหมือนเขาจะประกาศเชิดชูว่าผู้ที่ได้รับรางวัลท่านนั้นได้มาดูการประกวดอย่างต่อเนื่อง (แต่ก็ไม่น่าจะเกินสิบปีนะ)  ผมนึกในใจว่า “กรูนี่แหละคือคนที่ต้องได้รางวัล เพราะ ณ.เวลานั้นผมก็น่าจะมาดูอย่างต่อเนื่องได้ไม่ต่ำกว่า 20 ปีเข้าไปแล้ว 55+”

ภาพการประกวดวงโยธวาทิต นั่งบรรเลง สนามศุภชลาศัย

กว่า 30 ปีที่ได้ไปดูงานประกวดวงโยธวาทิตนี้ ผมไปดูคนเดียวตลอดไม่เคยชวนใครไปด้วย แต่ก็มีอยู่ปีหนึ่งที่มีน้องๆ ที่โรงงานซึ่งผมทำงานขอติดตามไปด้วย เพราะพวกเขาสงสัยว่าทำไมผมถึงได้ต้องไปดูการประกวดทุกๆ ปี คือมันสนุกตรงไหนอย่างไร ปีนั้นเลยมีคนติดตามไปดูด้วยสองหรือสามคนไม่แน่ใจ พอเขาได้ไปดูงานในปีนั้น เขาพูดกับผมขึ้นมาคำนึงว่าเขาเข้าใจแล้วว่าทำไมผมถึงชอบมาดู แต่ในความคิดผมผมกลับมีความคิดอีกอย่างหนึ่งว่าการชวนคนอื่นๆ มาดูด้วยแล้วหากพวกเขาไม่ได้ชอบมันจริงๆ กลับอาจจะกลายเป็นว่าชวนคนมาอื่นมานั่งเบื่อเสียเปล่าๆ ด้วยความกังวลว่าเขาอาจจะไม่สนุกอย่างกับที่เราสนุกหรือไม่ กลายเป็นว่าทำให้เราต้องคอยกังวลและทำให้ตัวผมเองไม่สบายใจ นับจากปีนั้นที่พาน้องๆ ที่ทำงานไปดูด้วย ในปีต่อๆ มาผมก้อไม่เคยคิดจะชวนใครไปดูการประกวดวงโยธวาทิตด้วยอีกเลย ไปคนเดียวเช่นเคยน่าจะดีกว่า

การจัดประกวดวงโยธวาทิตจากอดีตถึงปัจจุบันมีการพัฒนาเปลียนแปลงไปมากมาย เช่น

  1. เมื่อก่อนการประกวดนั่งบรรเลงกับดนตรีสนามจะรวมกันไว้ที่เดียว แต่ปัจจุบันได้ทำการแยกการประกวดนั่งบรรเลงไปไว้ในอาคารมินิบุตร ผมเดาว่าอาจจะด้วยต้องการปรับปรุงเรื่องคุณภาพการรับฟังของเสียงบรรเลง (บรรเลงในสนามศุภฯ มีปัญหาเรื่องเสียงก้อง)
  2. จำนวนประเภทของถ้วยรางวัลหรือการพิจารณาให้รางวัลมีการเพิ่มเติมแยกปลีกย่อยมากขึ้น เช่นมีถ้วย ง ขึ้นมาสำหรับวงของโรงเรียนประถม และเพิ่มรางวัลปลีกย่อยอื่นๆ ให้หลากหลายมากขึ้น
  3. กฏเกณฑ์ต่างๆ ของการแข่งขันเปลี่ยนไปจากเดิมมาก เช่น เกณฑ์ของข่ายที่จะเรียกว่า ถ้วย ก ข ค หรือ ง (สมัยก่อนแบ่งแยกด้วย จำนวนผู้เล่น และความเป็นวงชายล้วน หรือ หญิงล้วน แต่เดี๋ยวนี้ปรับเปลี่ยนไปจนผมจับหลักที่จะจำไม่ได้แล้ว)
  4. กฎข้อบังคับของเพลงต่างๆ ที่ใช้บรรเลงก็เปลี่ยนไป เปลี่ยนไปอย่างไรบ้างผมไม่จำแล้ว แต่ที่ยังจำคร่าวๆ ในสมัยก่อนก็อย่างเช่น ต้องมีเพลงพระราชนิพนธ์ เพลงมาร์ชธนาคารทหารไทย (ผู้สนับสนุนการประกวด) เพลงเลือกต่างๆ และเพลงไทยเดิม และในคำว่าเพลงไทยเดิมก็ยังมีข้อบังคับว่าต้องเป็นเพลงเถาว์ เพลง 2 ชั้นหรือ 3 ชั้นอะไรประมาณนั้น และด้วยการบังคับให้มีการบรรเลงเพลงไทยเดิมนี่เองทำให้ผมได้รู้จักกับเพลง “หกบท” “โยสลัม” “มยุราภิรมย์” แต่กฏเกณฑ์เหล่านี้ปัจจุบันก็ได้เปลี่ยนไป
  5. รูปแบบพิธีรีตองในการจัดขบวนในการเตรียมตัวในสนามก็เปลี่ยนไปมาก ไม่ได้พิธีรีตรองเหมือนสมัยแรกๆ เน้นไปที่เนื้อๆ ของการแข่งขัน ไม่จำเป็นต้องใส่ใจกับรายละเอียดของการเตรียมความพร้อมเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งก็ทำให้ดูไม่เยิ่นเย้อดี
  6. ความอลังการของเครื่องดนตรีของปัจจุบันถือว่าพัฒนาแบบสุดๆ สมัยก่อนมีเครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้นและหลายประเภทเหมือนในปัจจุบัน เสียดายที่ผมไม่ใช่คนดนตรี ไม่มีความรู้เรื่องเครื่องดนตรี จะเรียกชื่อเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นยังเรียกไม่ถูกเลย5+ เลยไม่สามารถอธิบายหัวข้อนี้ได้ละเอียด แต่หากคนที่อยู่ในวงการได้อ่านคงเข้าใจ
  7. อื่นๆ ที่ยังนึกไม่ออก 55+
การเดินออกจากสนามเมื่อจบการแสดง

และต่อจากนี้เป็นความรู้สึกของผมในฐานะผู้ชมคนหนึ่งที่ได้ติดตามแบบห่างๆ แบบคนวงนอกมาอย่างยาวนานมากว่า 30 ปี (ไม่รวมช่วง 4-5 ปีแรกๆ ที่ผมยังไม่ได้ติดตามอย่างจริงจัง) ผมขอแบ่งช่วงเวลาออกเป็นสามช่วงคือ ช่วงยุคต้น คือประมาณสิบกว่าปีแรกที่ผมเริ่มติดตาม (พ.ศ. 25XX-2540) ช่วงยุคกลาง (พ.ศ.2540-2550) ช่วงยุคปลายหรือปัจจุบัน (พ.ศ.2550-ณ.ปัจจุบัน) และขอกล่าวอ้างอิงชื่อของโรงเรียนต่างๆ เท่าที่ผมจะจำได้ โดยข้อมูลที่กล่าวอาจจะไม่ถูกต้องเท่าไหร่นัก ไม่มีเจตนาจะเชียร์หรือดูถูกอย่างใด เพราะเป็นแค่เพียงความทรงจำที่ไม่ได้มีการจดบันทึก หรือค้นหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตมาอ้างอิง  ข้อมูลจึงอาจคลาดเคลื่อนได้สูง อีกทั้งกฏเกณฑ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นระยะๆ ทำให้พอนานเข้าผมก็จับหลักไม่ถูกเช่นกัน  ซึ่งผมมีความรู้สึกต่างๆ ดังนี้

  1. การแข่งวงโยธวาทิตของโรงเรียนแต่ละแห่งเมื่อเข้ามาแข่งปีแรกๆ มักจะต้องใช้เวลาในการไต่ระดับขึ้นมา บางโรงเรียนไต่จากถ้วย ค หรือ ข ค่อยๆ ไต่ระดับจนได้รางวัลชนะเลิศในถ้วยรองๆ ก่อนแล้วจึงค่อยเปลี่ยนมาแข่งในถ้วย ก เมื่อวงมีความพร้อมเต็มที่ ไม่ว่าจะด้วยฝีมือที่สั่งสมมานาน ความพร้อมของเครื่องดนตรี และจำนวนนักแสดง เพราะการได้ครองถ้วย ก น่าจะถือว่าเป็นที่สุดของเป้าหมายของแต่ละโรงเรียน และก็เป็นสิ่งที่ผู้ชมให้ความสนใจด้วย
  2. ไม่ว่าจะแข่งกันในถ้วยไหน อัตราเร็วหรือเร่งในการไต่ระดับของแต่ละโรงเรียนไม่เท่ากัน อย่างโรงเรียนที่เก่งๆ อาจจะใช้เวลาไม่เกินสองถึงสามปีก็สามารถไต่ขึ้นไปชิงรางวัลชนะเลิศได้แล้ว แต่บางโรงเรียนอาจใช้เวลาอาจจะมากกว่า 4-5 ปี หรือมากกว่านั้น ทำได้ดีที่สุดก็รางวัลรองชนะเลิศหรือที่สาม ยกตัวอย่างที่ผมจำได้อยู่โรงเรียนหนึ่งคือ รร.วังไกลกังวล ผมว่าโรงเรียนนี้มาแข่งน่าจะเรียกว่าเกือบทุกปี แต่ผมแทบจะไม่เคยเห็นเขาได้รางวัลชนะเลิศเลย (อาจจะเคยชนะเลิศในถ้วยรองๆ แต่ผมจำไม่ได้) ผมก็แอบๆ เชียร์โรงเรียนนี้หลายๆ ครั้ง แต่ผมว่าจุดด้อยของโรงเรียนนี้อย่างหนึ่งคือ เหมือนเขาจะเอาแต่เด็กมัธยมต้นมาเล่นหรือป่าวไม่แน่ใจ เห็นแต่ละปีที่มาแข่งจะเห็นแต่เด็กตัวน้อยๆ (คิดเอาเองนะครับ)
  3. หลายๆ ครั้ง เวลาได้คุยกับคนที่รู้จักวงโย แต่อาจจะมีความรู้แบบผิวเผิน เขามักจะนึกถึงแต่วงโยธวาทิตของ โรงเรียนมงฟอร์ด หรือ โรงเรียนวัดสุทธิวราราม แต่ถ้าลองเก็บสถิติดูจริงๆ ผมกลับรู้สึกว่า สองโรงเรียนนี้ไม่ได้เป็นโรงเรียนที่อยู่ในกลุ่มที่ควรจะเรียกว่าอยู่ในวงการวงโยธวาทิตอย่างแท้จริง เพราะว่าสองโรงเรียนนี้ไม่ได้มาเข้าแข่งขันบ่อยเท่าไหร่เลย กรณีอย่าง รร.มงฟอร์ด เขาเก่งจริงแต่ปีไหนที่เขามาก็มักจะได้รางวัลไม่ชนะเลิศหรือรองไปครองเลย แต่หลังจากได้แล้วก็จะหายไปนานจนลืม อีกหลายปีถึงจะกลับมา ส่วนกรณีของโรงวัดสุทธิก็เช่นกัน อาจจะมาบ่อยกว่าแต่ก็มาเจอกับโรงเรียนที่หินๆ อย่างพวกราชวินิตบางแก้ว อัสสัมชัญศรีราชา หรือ อรรถวิทย์พานิชยการบางนา ดังนั้นเวลาผมคุยกับใครแล้วเขากล่าวถึงแต่สองโรงเรียนนี้ ผมจะแอบคิดในใจว่าคนพวกนี้ไม่ได้มีความรู้จริงเลย
  4. พอได้ไปดูการประกวดบ่อยๆ ก็ทำให้มีความชื่นชอบวงโยฯ ของโรงเรียนต่างๆ ตั้งหน้าตั้งตารอคอยว่าปีนี้ที่กำลังจะไปดูจะมีโรงเรียนที่ชื่นชอบมาแข่งหรือไม่ เช่น
  • มีโรงเรียนจากจังหวัดขอนแก่นอยู่โรงเรียนหนึ่งแต่ผมจำชื่อโรงเรียนนี้ไม่ได้ ชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่าโรงเรียนขอนแก่น…. แต่ลงท้ายด้วยคำว่าอะไรจำไม่ได้ แต่น่าจะเป็นโรงเรียนหญิงล้วน ที่แทบจะจำชื่อไม่ได้ เพราะโรงเรียนนี้มาแข่งในยุคแรกๆ ใช้เวลาใต่ระดับอยู่หลายปี จนเมื่อได้รางวัลชนะเลิศแล้วก็ไม่เคยได้เห็นกลับมาแข่งขันอีกเลยกว่า 20 ปีแล้ว ที่จำโรงเรียนนี้ได้เพราะเขาจะมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครตรงที่ผู้เล่นแถวหรือสองแถวหน้าเวลาที่เดินมาร์ชิ่งผ่านหน้าประธานและคนดู คนตีกลองเขาจะมีท่าเก๋ๆ ที่เอาไม้กลองขึ้นมาควงเหนือหัว ซึ่งเป็นโรงเรียนเดียวที่ผมเห็นว่าเขาใช้เทคนิคนี้
  • โรงเรียนอัสสัมชัญทั้งหลาย และในกลุ่มอัสสัมชัญนี่จะมีชื่อที่ติดหูอยู่สองแห่งคืออัสสัมชัญลำปาง แต่ก็น่าจะมาในช่วงยุคแรกๆ ไม่กี่ปี แล้วไม่เคยเห็นอีกเลยในยุคกว่ายี่สิบปีหลังมานี่ และอีกโรงเรียนที่ชอบที่สุดของกลุ่มอัสสัมชัญก็คืออัสสัมชัญศรีราชา มาแข่งบ่อยจนได้รางวัลชนะเลิศแล้วก็หายไปเลยกว่าสิบปีแล้วเหมือนกัน
  • โรงเรียนดาราวิทยาลัย จากทางภาคเหนือมาแข่งในยุคแรกๆ บางปีก็มาพร้อมกับมงฟอร์ด พอได้รางวัลแล้วก็หายไปเลยน่าจะเกือบยี่สิบปีแล้วมั๊งครับ
  • โรงเรียนดาราสมุทร จากศรีราชา มาในช่วงยุคต้นหรือยุคกลางพร้อมๆ หรือหลังจากอัสสัมชัญศรีราชาหน่อย แต่ในยุคหลังนี้หายไปเลยเช่นกันโรงเรียนมงฟอร์ด โรงเรียนนี้หากปีไหนมาแข่งคนดูจะฮือฮากันเป็นพิเศษ มาแบบไม่ต้องเสียเวลาไต่ระดับ เก็งที่หนึ่งหรือที่สองกันไปเลย แต่สำหรับผมไม่ได้เป็นแฟนโรงเรียนนี้สักเท่าไหร่ เพราะปีไหนที่เขามาแข่งผมก็จะมักจะเชียร์คู่ชิงของเขาเสียมากกว่า แต่จริงๆ ผมว่าหากถอดชื่อโรงเรียนมงฟอร์ด, ดาราวิทยาลัย และอีกหลายๆ โรงเรียนที่ไม่เคยกลับมาแข่งนานกว่าสิบถึงยี่สิบปีนี้ออกจากความทรงจำไปได้คงจะดี จะได้ประหยัดหน่วยความจำสมองของผม (แต่ก็ทำไม่ได้เพราะมันจำไปแล้ว5+)
  • โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว ผมคิดว่าโรงเรียนนี้มาแข่งช่วงประมาณยุคที่สองใช้เวลาใต่ระดับอยู่พอสมควรจนได้รางวัลชนะเลิศและก็หายไปน่าจะเกือบหรือกว่าสิบปีแล้วเหมือนกัน
  • โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย เป็นโรงเรียนที่มาในยุคต้นหรือกลาง เหมือนจะมาถี่ในช่วงแรกๆ หลังจากได้รางวัลชนะเลิศและไปแข่งต่างประเทศมาแล้วหลังๆ ก็หายไปเหมือนกัน ผมคิดว่าคนทั่วๆ ไปน่าจะลืมๆ ไปแล้วว่าโรงเรียนนี้อยู่ในวงการวงโยธวาทิต
  • โรงเรียนสุรนารี เป็นวงที่เข้ามาในยุคกลางหรือยุคปลายมานี้และน่าจะอยู่ในความทรงจำของคนยุคปัจจุบันอยู่
  • โรงเรียนมัธยมวัดสิง โรงเรียนนี้ก็มาช่วงยุคหลังๆ มานี้และก็ยังมาแข่งอยู่เรื่อยๆ ผมคิดว่าอยู่ในช่วงที่กำลังไต่ระดับอยู่และก็มาแรงเหมือนกัน มีโอกาสที่จะขึ้นสูงสุดได้ในไม่ช้า
  • โรงเรียนอรรถวิทย์พานิชยการ น่าจะเริ่มเข้ามาในยุคกลางและหลังนี่ โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนที่ชอบมากที่สุดอีกโรงเรียนหนึ่ง ที่ใช้คำว่าชอบมากที่สุดเพราะโรงเรียนนี้เขาเสมอต้นเสมอปลาย มาแข่งอยู่อย่างสม่ำเสมอแต่สามสี่ปีหลังมานี่ก็เริ่มแผ่วไปเช่นกัน แต่ชื่อของโรงเรียนก็ยังอยู่ในความทรงจำของคนวงการโยธวาทิตปัจจุบันเช่นกัน
  • โรงเรียนวัฒโนทัยพายับ เป็นอีกโรงเรียนที่มาแข่งในยุคต้นแล้วก็หายสาปสูญไปนานแล้ว
  • โรงเรียนวังไกลกังวลหัวหิน โรงเรียนนี้มาร่วมแข่งอย่างยาวนานแต่ใช้เวลากับการไต่ระดับนานมากเหมือนจะยังไม่ถึงฝั่งฝันเสียที (อาจเคยชนะเลิศในถ้วยรองๆ แต่ผมจำไม่ได้) แต่ก็รู้สึกว่ามีการพัฒนาขึ้นมาก
  • โรงเรียนมหาวชิราวุธจากทางภาคใต้ โรงเรียนนี้ก็มาๆ หายๆ แต่ชื่อคุ้นหูอยู่ มีพัฒนาการที่ดีเป็นลำดับ แต่อยู่ระหว่างการไต่ลำดับอยู่

5. ยุคที่พีคสุดๆ หรือมีจำนวนวงเข้ามาแข่งมากที่สุดจนบางปีล้นสนามจนต้องเข้าแถวรอฟังผลแบบซ้อนสองชั้น หรือลงไปอยู่ในลู่วิ่งน่าจะเป็นช่วงยุคแรกและยุคที่สอง (บางปี) ส่วนยุคหลังมานี้ ผมว่าการแข่งขันดูกร่อยๆ ไม่สนุกเพราะมีวงเข้ามาแข่งน้อยมาก อาจจะด้วยกฎเกณฑ์ใหม่ที่มีการจัดการแข่งขันในระดับภาคก่อน เพื่อคัดกรองแล้วเข้ามาแข่งใน กทม. อีกทีเพื่อลดความแออัด และก็เพื่อให้คนในพื้นที่ของจังหวัดนั้นๆ ได้มีส่วนร่วม หรือเหตุผลอื่นใดไม่ทราบ แต่ผลที่ตามมาก็คือ ความสำคัญหรือความที่เคยเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของงานวันเด็กก็ดูด้อยค่าลงไปอย่างมาก

6. จำนวนคนดูก็น้อยลงเรื่อยๆ หากจะวัดจำนวนคนดูในวันเสาร์ซึ่งเป็นวันเด็กอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะวันเสาร์ได้คนดูที่เป็นผลผลอยได้ของเด็กและผู้ปกครองที่พาเด็กมาเที่ยวและทำกิจกรรมอื่นๆ ผมคิดว่าหากจะวัดความจำนวนคนดูและความสำเร็จ ต้องดูจำนวนคนในวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันชิงชนะเลิศ

7. คนที่มาดูส่วนใหญ่จะเป็นครูอาจารย์ ญาติพี่น้องและเพื่อนนักเรียนของโรงเรียนนั้นๆ ที่มาแข่งเสียเป็นส่วนใหญ่ รองลงไปอาจจะเป็นศิษย์เก่าที่เคยร่วมทำกิจกรรมวงโยฯ ในสมัยที่ยังเรียนอยู่และเมื่อจบไปแล้วก็ยังติดตามมาให้กำลังใจอยู่ปีสองปีแล้วก็ค่อยๆ ห่างหายกันไป

8. คนดูอีกกลุ่มคือคนดูกลุ่มประเภทผม ซึ่งเป็นคนดูที่ไม่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ใดๆ กับกิจกรรมนี้ แต่มาด้วยเพราะความชอบ ซึ่งผมไม่รู้ว่าจะมีมากน้อยสักเพียงใด ผมคิดว่าจริงๆ ทางผู้จัดควรจะทำวิจัยและใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จอย่างหนึ่งด้วย

9. การแยกการแข่งขันนั่งบรรเลง (แยกไปใช้อาคารมินิบุตร) กับการบรรเลงสนามออกจากกันทำให้ความดูยิ่งใหญ่ของงานแสดงลดทอนไป และคนที่จะติดตามไปดูการนั่งบรรเลงก็น้อยกว่าการรวมไว้ที่เดียวกันด้วย

10. ปัจจุบันที่ไม่มีธนาคารทหารไป (ชื่อเดิม) เป็นสปอนเซอร์แล้วก็ดูแปลกๆ ไปเช่นกัน แต่ก็เข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องของธุรกิจ และนโยบายที่ปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

11. สองพิธีกรเดิมที่หายไปก็ทำให้รู้สึกกร่อยและความสนุกหายไปเยอะเลย พิธีกรปัจจุบันที่เป็นฝ่ายชายผมคิดว่าก็โอเคอยู่ เป็นผู้มีความรู้แกมักจะมีการให้ข้อมูลผู้ชมได้ดี ส่วนพิธีกรหญิงผมคิดว่าน่าจะไม่ใช่คนที่มีความรู้เรื่องโยธวาทิตสักเท่าใดนัก แต่แค่ทำหน้าที่แบบพิธีกรทั่วๆ ไป แต่อย่างไรก็ตามความเก๋าของพิธีกรปัจจุบันก็ไม่สามารถเทียบได้เลยกับพิธีกรเดิมสองท่านก่อน (ไม่แน่ใจว่าที่ต้องปลดประจำการไปเพราะทั้งสองท่านเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารทหารไทย หรือเพราะด้วยเหตุผลอื่น) พิธีกรเดิมทั้งสองท่านเปรียบเสมือนเป็น Brand ของกิจกรรมประกวดวงโยธวาทิตไปแล้ว พิธีกรหญิงจะมีน้ำเสียงที่มีความไพเราะและมีเอกลักษณ์เป็นอย่างมาก ผมชอบตอนที่แกจะต้องอ่านให้ข้อมูลว่าโรงเรียนที่กำลังลงแข่งกำลังจะใช้เพลงใดในการประกวด และประวัติคร่าวๆ ของโรงเรียนที่เคยมาแข่งขันและได้รางวัล ส่วนพิธีกรชายก็จะมีลีลาการพูดที่มีมุกตลกทำให้ผู้ชมขำได้เสมอ

12. ผมคิดว่าหากพิจารณาในแง่ของพัฒนาการของการจัดกิจกรรมนี้ ก็ต้องถือว่าน่าจะมีความเจริญรุ่งเรืองของมันไปตามลำดับ มีกฎเกณฑ์และความเป็นมาตรฐานที่ดีขึ้น และคงดูเป็นธรรมกับทีมงานและโรงเรียนที่คร่ำหวอดกับกิจกรรมนี้ได้ดียิ่งขึ้นๆ 

แต่หากมองในมุมของความสำเร็จด้านผู้ชมผู้ติดตาม ผมว่ากิจกรรมนี้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ยิ่งหากนำตัวแปรเรื่องความยาวนานของกิจกรรมที่มีมาอย่างต่อเนื่องถึง 40 ปี แต่ผลสำเร็จของกิจกรรมกลับเป็นได้แค่เหมือนงานเทศกาลประจำปีประจำท้องถิ่น ยกตัวอย่างเช่น หากนึกถึงงานลอยกระทง ก็คงนึกถึงจังหวัดอยุธยา หรือสุโขทัย หากนึกถึงงานแห่เทียนพรรษา ก็ต้องนึกถึงจังหวัดอุบลราชธานี หรือเอาแบบทันสมัยหน่อยก็อย่างเช่นหากนึกถึงเรื่องการแข่งฟุตบอล ก็คงจะนึกถึงจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น

งานแข่งฟุตบอลใหญ่ๆ ไม่จำเป็นต้องมีกำหนดการพิมพ์ไว้บนปฏิทิน แต่ผู้คนกลับให้ความสนใจเสียมากกว่างานประเพณีทางวัฒนธรรมที่ถูกพิมพ์ไว้บนปฏิทินเสียอีก เป็นเพราะอะไร?

หากลองเอางานประกวดวงโยธวาทิตไปเปรียบเทียบกับงานแข่งขันฟุตบอล ก็ยิ่งเห็นความแตกต่างๆ จังหวัดบุรีรัมย์ที่สมัยก่อนไม่เคยมีคนสนใจสามารถสร้างแบรนด์ของจังหวัดขึ้นมาได้ด้วยเวลาไม่กี่ปีด้วยการเชิดชูกีฬาฟุตบอล แต่กิจกรรมประกวดวงโยธวาทิตใช้เวลาสั่งสมชื่อเสียงมากว่า 40 ปี แต่กลับไม่สามารถขยายวงกว้างให้เป็นที่รู้จักและติดตามของคนทั่วๆ ได้มากเท่าไหร่ (ความคิดผม) หรือเพราะว่าผู้จัดตั้งเป้าหมายความสำเร็จไว้เล็กเกินไป จำกัดไว้อยู่กับแค่วงการการศึกษา จึงพอใจกับผลสำเร็จแค่จำนวนตัวเลขของครู นักเรียน ผู้ปกครอง และทีมงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่เข้าร่วมกิจกรรม หรือสรุปง่ายๆ อีกทีก็คือว่าในมุมมองของผู้จัดอาจจะพอใจอยู่กับพัฒนาการที่มากขึ้นเรื่อยๆ (หรือป่าวไม่แน่ใน?) แต่ในมุมมองด้านการด้านการตลาดและวัดกันที่ตัวเลขผู้ชมกลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่เมื่อเทียบกับโครงการที่มีการดำเนินการมาอย่างยาวนาน

แต่ละโรงเรียนเข้าแถวในสนามเพื่อรอฟังคำตัดสิน

ข้อแนะนำแบบขำๆ: ผมคิดว่าผู้บริหารที่คิดจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมาก็ต้องมีการเขียนแผนงานขึ้นมาเพื่อกำหนดจุดประสงค์ และเป้ามายที่ของผลสำเร็จที่ต้องการขึ้นมา ส่วนในรายละอียดจะเป็นอย่างไร บรรลุจุดประสงค์มากน้อยแค่ไหน ผมไม่ทราบเพราะไม่ได้ติดตาม แต่ผมคิดว่าโครงการที่ถูกเขียนหรือกำหนดขึ้นมามันถูกจัดทำขึ้นโดยมุมมองของคนวงในเสียมากกว่า แต่อาจจะไม่ได้นำข้อมูลของคนวงนอกเข้ามาประกอบการพิจารณาเท่าใดนัก

แต่หากผมเป็นผู้เขียนโครงการ ผมจะวางเป้าหมายของความสำเร็จไว้ว่า จะทำอย่างให้ชื่อกิจกรรมการประกวดวงโยธวาทิตมันเข้าถูกพิมพ์อยู่ในปฏิทินประจำปีว่า “วันประกวดวงโยธวาทิตแห่งชาติ” มันคงจะดูดีไม่น้อยทีเดียว (กรูบ้าไปแล้ว55+) แน่นอนมันคงยากที่จะทำให้สำเร็จ แต่อย่างน้อยมันก็เป็นหมุดหมายเพื่อให้เราได้แตกแผนงานระยะสั้น กลาง ยาว ขึ้นมา แล้วสร้างตัวชี้วัดขึ้นมา แล้วทำการสร้างแผนกิจกรรมย่อยๆ ออกมารองรับ

ขอบคุณที่ทนอ่านมาเสียยืดยาว เยิ่นเย้อบ้าง วกๆ วนๆ บ้าง ก็ต้องขออภัย

อย่างไรก็ตามที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นแค่มุมมองหนึ่งของคนนอกวงการที่ติดตามมาอย่างยาวนาน ไม่ว่ากิจกรรมนี้จะมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนไปอย่างไร ผมก็จะยังคงไปดูกิจกรรมนี้ต่อไปจนกว่าจะไม่มีแรงเดินก้าวขึ้นอัฒจรรย์ของสนามศุภชลาศัย 55+

 

Related articles

First trip to Korea

First trip to Korea (1990)

ผมจำวันเวลาแบบเป๊ะๆ ไม่ได้ว่าครั้งแรกที่มีโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศเมื่อไหร่ แต่พอจะจำปีได้ก็น่าจะประมาณ 1990 (2533)

Read More
MCS-51 Controller Board

เขียนโปรแกรมอ่านค่า Keyboard ด้วย MCS-51

สมัยทำงานอยู่โรงงานอิเล็กโทรนิกส์แห่งหนึ่ง(เมื่อชาติที่แล้ว5+) หน้าที่หลักๆ คือควบคุมกระบวนการผลิตตั้งแต่รับวัตถุดิบเข้าโรงงานยันส่งออก งานหลักๆ ส่วนหนึ่งที่รับผิดชอบก็คือการแก้ปัญหาของเสียของผลิตภันณ์ที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต

Read More
ม้วนเทปแรกในชีวิต

เทปม้วนแรกที่เก็บตังค์ซื้อ

สมัยเด็กๆ ตอนเริ่มได้ยินเสียงเพลงกรอกเข้าหู ตอนนั้นจำได้ว่าวันเสาร์หรืออาทิตย์มักชอบไปเที่ยวบ้านยายซึ่งเป็นบ้านสวนอยู่ริมคลองแสนแสบ บ้านสวนริมคลองแสนสนุก เพราะได้กระโดดน้ำเล่นกับเพื่อนๆ

Read More

- Chatchaval -

" A MAN OF FEW WORDS "

เรื่อยๆ มาเรียงๆ นกบินเฉียงไปทั้งหมู่ คนเดียวมาไร้คู่เหมือนพี่อยู่เพียงเอกา ร่ำๆ ใจรอนๆ อกสะท้อนอ่อนใจข้า ดวงใจใยหนีหน้า โถแก้วตามาหมางเมิน

" hoXBot "

My personal favorite
Sponsor

SAFE MASK

โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ และหน้ากากป้องกันฝุ่น
Clips

Get in Touch !